รู้ทันโรค ไขมันพอกตับ

สิงหาคม 23, 2017

รู้ทันโรค ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ

 

ไขมันพอกตับ (FATTY LIVER)

ภาวะไขมันพอกตับ หมายถึงภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ Triglyceride อยู่ในเซลล์ตับ โดยที่คนๆนั้นไม่ได้ดื่มสุรา (ปกติคนที่ดื่มสุรามานานจะมีการพอกของเซลล์ไขมันในตับ) ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเสียหายหรืออักเสบกับตับในระยะแรก แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับเกิดกลุ่มอาการที่ เรียกว่า Non-Alcoholic Steatohepatitis (NASH)ในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง Cirrhosis แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดการอักเสบของตับ พบว่าร้อยละ5-8ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบและตับแข็ง

สาเหตุของไขมันพอกตับ
1. ผู้ที่มีไขมันพอกตับโดยที่ไม่มีสาเหตุเรียก Primary ในปัจจุบันพบว่าภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลินเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ หลังจากนั้นอาจจะมีปัจจัยหรือกลไกอื่นอีกที่มากระตุ้นให้เกิดการอักเสบและ การตายของเซลล์ตับ ซึ่งกลุ่มอาการที่สัมพันธ์ต่อการดื้อต่ออินซูลินนี้เรียกว่า Insulin Resistant Syndrome ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย คือ

  • อ้วน ซึ่งมักจะอ้วนที่ลำตัวมากกว่าแขนขา
  • เบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง

2.  ส่วนพวกที่มีสาเหตุเรียก Secondary สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ

  • การดื่มสุรา alcoholic liver disease (ALD)
  • จากไวรัสตับอักเสบ บี
  • ไวรัสตับอักเสบซี
  • จากโรคแพ้ภูมิ Autoimmune hepatitis
  • จากยาบางชนิด เช่น prednisolone, amiodarone (Cordarone), tamoxifen (Nolvadex), methotrexate (Rheumatrex, Trexall), และ nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS).
  • การขาดอาหาร

อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการมาเจาะเลือด ตรวจสุขภาพ ในบางรายอาจมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา หรืออ่อนเพลียง่าย ตรวจร่างกายผู้ป่วยจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นมีภาวะอ้วน ซึ่งมักจะเป็นอ้วนแบบลงพุง และในกรณีผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว อาจตรวจพบลักษณะของโรคตับเรื้อรังร่วมด้วย การเจาะเลือดดูการทำงานของตับ อาจจะพบค่า AST และค่า ALT สูงกว่าปกติประมาณ 1.5 เท่า หรือมีค่า ALP สูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนค่าอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การรักษา
การลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ อาหารทะเลไข่แดง, ไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป, ลดปริมาณอาหารลงด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น, ไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป (ลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัม / เดือน) เพราะการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็วโดยการงดอาหารอาจก่อให้เกิดตับอักเสบอย่าง รุนแรงได้
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา