โรคอัมพาตใบหน้า FACIAL PALSY ( BELL’S PALSY )

โรคอัมพาตใบหน้า FACIAL PALSY ( BELL’S PALSY )

โรคอัมพาตใบหน้า โรคหน้าเบี้ยว หรือโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือบางทีตื่นขึ้นมาก็พบว่าเกิดอาการหน้าเบี้ยวทันที และมักจะเกิดเพียงข้างเดียว เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่7 ( Facial nerve ) ซึ่งเส้นประสาทนี้ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เมื่อเกิดความผิดปกติ จึงทำให้เสียการควบคุมใบหน้าซีกนั้นไป

สาเหตุของการเกิดโรคอัมพาตใบหน้า

  • ความผิดปกติของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดในสมองอักเสบ
  • โรคปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • อาจจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม (Herbes Simplex), โรคงูสวัด (Herpes Zoster), ไวรัสตะกูล Cytomegalovirus

อาการของโรคอัมพาตใบหน้า

  • ปากเบี้ยว ริมฝีปากตกไปด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้น้ำลายไหลออกทางมุมปาก ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก
  • รอยย่นที่หน้าผากจะหายไปข้างหนึ่ง เลิกค้วไม่ได้
  • ปิดตาไม่สนิท ทำให้ตาแห้ง ระคายเคืองตา
  • เคี้ยวอาหารลำบาก หรืออาจจะรับรู้รสอาหารลดลง
  • พูดไม่ชัด

แนวทางการรักษาทางแผนปัจจุบัน

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ อาจให้ยาต้านการอักเสบ ในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัส ยาแก้ปวด ฯลฯ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อฝื้นฟูกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า กรณีที่ปิดตาไม่สนิท อาจจะต้องใช้น้ำตาเทียมหยอดเป็นประจำ หรือปิดตาข้างที่มีปัญหา เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง ซึ่งพบว่า ในผู้ป่วยบางราย สามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ

โรคอัมพาตใบหน้า หน้าเบี้ยว ในทัศนะทางการแพทย์แผนจีน

โรคอัมพาตใบหน้า ได้รับความนิยมในการรักษาโดยการฝังเข็มมาก เนื่องจากการรักษาทางแผนปัจจุบันมีข้อจำกัด การรักษาทางแผนจีน ได้แก่ การฝังเข็ม การรมยา การครอบแก้ว และการเจาะปล่อยเลือด

สาเหตุโรคอัมพาตใบหน้า ในมุมมองของแพทย์แผนจีน

เชื่อว่าเกิดจากลมร้อนหรือลมเย็น มากระทบต่อเส้นลมปราณบริเวณใบหน้า ทำให้เกิดความไม่สมดุลของการไหลเวียนชี่และเลือด หรือเรียกว่า”ลมปราณติดขัด” จึงมักพบในตอนเช้าหลังจากตื่นนอน ซึ่งอาจเกิดจากการที่ใบหน้าถูกความเย็นมากระทบ เช่น แอร์เย็นกระทบใบหน้าในขณะหลับ นอกจากนี้ ภาวะการตรากตรำ เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดความเครียด ก็อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหน้าเบี้ยวได้

การรักษาอัมพาตใบหน้าทางแพทย์แผนจีน

การฝังเข็ม การเลือกจุดฝังเข็ม โดยการวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการจีบชีพจร โดยแพทย์จะฝังเข็มในบริเวณใบหน้า และจุดอื่นๆตามร่างกาย แขนและขา ร่วมกับการรมยา( Moxa ) และการกระตุ้นไฟฟ้าโดยผ่านเข็ม เพื่อให้เข็มส่งวความร้อนเข้าไปในจุดฝังเข็ม บนเส้นลมปราณ เพื่อสลายความเย็น บางราย จะเพิ่มการครอบแก้ว (Cupping ) เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม บริเวณใบหน้าที่มีปัญหา

ระยะเวลาในการรักษา : ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

คอร์สฝังเข็ม : 10 ครั้ง สัปดาห์ละ2-3 ครั้ง