
สิวคืออะไร?
สิวคือการอักเสบของต่อมไขมัน ( Sebaceous gland ) จึงมักเกิดสิวในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก โดยเฉพาะที่ใบหน้าหรือบริเวณคาง นอกจากนี้สิวยังเกิดได้ที่ตามร่างกาย บริเวณที่พบบ่อยๆคือ สิวที่หน้าอก และสิวที่หลัง ซึ่งความรุนแรงของสิวขึ้นอยู่กับแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยแต่ต่างกัน สิวที่เกิดขึ้น หายแล้วอาจจะเกิดแค่รอยแดง รอยสิวคล้ำๆ หรือรอยแผลเป็น หลุมสิว ขึ้นอยู่กับการอักเสบบริเวณต่อมไขมันนั้น หากมีการอักเสบมาก หายแล้วก็จะเกิดแผลเป็นหลุมสิวได้
มารู้จักโครงสร้างของต่อมไขมันที่ทำให้เกิดสิว
รูขุมขนของคนเราประกอบไปด้วยส่วนต่างๆได้แก่
- ต่อมไขมันหรือ Sebaceous gland
- รากขนหรือ Follicle
- ไขมันหรือ Sebum
- รูเปิดหรือ pore สู่ผิวหนัง
ต่อมไขมัน Sebaceous Gland มีหน้าที่ผลิตไขมัน (Sebum) โดยต่อมไขมันที่ผิวหน้าจะรวมกับขุมขน และขับไขมันออกทางรูขุมขุมขน บริเวณที่มีต่อมไขมันมากคือ บริเวณใบหน้าโดยเฉพาะที่บริเวณหน้าผาก,หนังศีรษะและกลางหลัง หากมีการอักเสบของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ก็จะทำให้เกิดสิว นั่นเอง

สิวเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
สิวเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน โดยมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีการสร้างไขมันเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ จนทำให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน ทำให้เกิดการอักเสบ ร่วมกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ( Propionibacterium acne) ในรูขุมขน ทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ บวมแดง หรือเป็นหนอง เรียกว่า “สิวอักเสบ” นั่นเอง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว
- ฮอร์โมน เชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสิว ฮอร์โมนที่ชื่อว่า Testosterone หรือฮอร์โมนเพศชายนี้จะถูกเปลียนเป็นสารชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Dihydrotestosterone ในเนื้อเยื่อและไปกระตุ้นที่ต่อมไขมัน ทำให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่มากขึ้นและผลิตไขมันออกมามากขึ้น สารบางชนิดที่เป็นส่วนประกอบของไขมันเช่น Free fatty acid , Squalene และ Squalene oxide จะทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังขึ้นได้ โดยมากฮอร์โมนนี้จะเริ่มสร้างเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยรุ่นประมาณ 11-14 ปี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วัยรุ่นมักจะเริ่มเป็นสิว ฮอร์โมนนี้มีทั้งในเพศชายและเพศหญิง ดังนั้นสิวจึงเกิดขึ้นทั้งชายและหญิง ปัจจัยใดๆก็ตามที่มีผลกับฮอร์โมนนี้ก็จะมีผลต่อต่อมไขมันด้วย
- แบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรียที่ชื่อ Propionibacterium acne จะย่อยไขมันให้กลายเป็นสารที่เรียกว่า Free fatty acid และสารอีกหลายชนิด ซึ่งสารเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบบริเวณรูขุมขนที่เกิดการอุดตัน จึงทำให้เกิดสิวขึ้นได้
- กรรมพันธุ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าคนที่มีพ่อแม่เป็นสิว ลูกก็มักจะเป็นสิวด้วย โดยเฉพาะจะสังเกตได้ในคนที่เป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน จะมีคู่แฝดที่เป็นสิวเหมือนกันเกินร้อยละ9 แม้ว่าจะไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด แต่กรรมพันธุ์น่าจะมีส่วนที่ทำให้เป็นสิวได้ เนื่องจากลักษณะโครงสร้างของผิวหนังในพ่อหรือแม่จะถ่ายทอดมาสู่ลูกได้
- อาหาร โดยทั่วไปอาหารไม่มีผลต่อการเกิดสิว แต่ในบางคน หากรับประทานอาหารหวานมัน ช็อคโกแลต หรือรสจัด รสเผ็ดร้อนมากเกินไป อาจมีผลทำให้เกิดสิว หรืออาการสิวแย่ลง ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือหยุดรับประทาน
- สิ่งแวดล้อม การทำงานในที่มีฝุ่นละอองมาก อากาศร้อนอบอ้าว มีเหงื่อออกมาก ทำให้เกิดการบวมของท่อไขมัน จึงทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขน ร่วมกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่ปะปนมากับอากาศ จึงอาจจะทำให้เกิดสิวได้
- การเสียดสีหรือสัมผัส มักพบสิวในบริเวณที่ผิวหนังมีการสัมผัสหรือเสียดสีเป็นประจำ เช่น นักสีไวโอลิน จะเกิดสิวบริเวณมุมระหว่างคอกับขากรรไกร ส่วนนักกีฬามักจะเกิดสิวบริเวณหน้าผากที่คาดผ้า (head band)หรือที่บริเวณขอบเสื้อชั้นในของผู้หญิง กลไกการเกิดสิวประเภทนี้ไม่ทราบแน่ชัดแต่มักจะเกิดในคนที่มีแนวโน้มจะเป็นสิวอยู่แล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบที่ส่วนบนของรูขุมขนและต่อมไขมันจากการระคายเคืองของผิวหนัง หรือเกิดจากการอับชื้นเนื่องจากมีเหงื่อออกมากในบริเวณนั้น
- อารมณ์หรือความเครียด มีผลทำให้เกิดสิวหรือทำให้สิวเห่อมากขึ้นได้ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ จะมีผลเกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมน และการกระตุ้นต่อมไขมันให้ทำงานมากขึ้น จะสังเกตได้ว่า นักศึกษาที่ใกล้สอบ, คนที่มีความเครียด กังวล, ตรากตรำทำงานหรือนอนน้อย มักจะมีสิวเห่อมากขึ้น
- เครื่องสำอาง เป็นสิงที่อยู่ใกล้ตัวและมีบทบาทมากในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น สบู่, ครีมทาหน้า, ยาทากันแดด, น้ำมันใส่ผม, แป้ง , ฯลฯ มีโอกาสทำให้เกิดสิวได้ เรียกว่า Cosmetic acnes โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารเหล่านี้ เช่น olive oil , white petrolatum , lanolin , สบู่ที่มีส่วนผสมของ tar, sulfers หรือครีมรองพื้นที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชบางชนิด, lauryl alcohol, butylsterate, oleic acid ฯลฯ
- ยา บางชนิดทำให้เกิดสิวเพิ่มขึ้นได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ , ยาคุมกำเนิด ฯลฯ
- ภาวะมีประจำเดือน ผู้หญิงที่เป็นสิว ประมาณ 60-70% ที่มักจะมีสิวเห่อมากขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ที่เป็นสิวอาจเนื่องมาจากฮอร์โมนที่ชื่อว่า Progesterone ที่จะหลั่งออกมามากในช่วงนั้น ทำให้รูขุมขนมีการเปลี่ยนแปลง คือบวมมากขึ้น เนื่องจากมีการคั่งของน้ำในเซลล์ผิวหนังมากขึ้น ทำให้เกิดไขมันอุดตันที่รูขุมขนจึงทำให้สิวเห่อขึ้นได้
- สารเคมีหรือสารพิษ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวได้ มีหลายๆอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษ เช่น คนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล, โรงกลั่นน้ำมัน เช่น สารพวก Paraffins mixtures, Crude petrolatum, น้ำมันดิบ (Coal tar), Chlorinated hydrocarbon หรือสารพิษเช่น DDT, Asbestos ฯลฯ สารต่างๆเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดสิวได้
ประเภทของสิว
1.สิวหัวดำ ( Blackhead or Open comedones ) สิวชนิดนี้จะเห็นเป็นตุ่มสีดำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1-3.0 ซ.ม. เมื่อมีขนาดใหญ่จะเห็นได้ชัด ถ้ากดหรือบีบออกมาจะมีลักษณะคล้ายตัวหนอนสีขาวอมเทาเป็นมันตรงส่วนปลายจะมีสีดำ ซึ่งเป็นสีของ melanin

2.สิวหัวขาว ( Whitehead or Closed comedones ) สิวชนิดนี้จะเห็นเป็นตุ่มขาวเล็กๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1-3.0 ซ.ม. เกิดจากการมีสารที่เรียกว่า keratin สะสมอยู่ที่บริเวณใกล้ๆรูขุมขน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็มักจะมีการอักเสบบวมแดงต่อไปได้
3.สิวอักเสบ ( Imflammatory acne ) มี 2 แบบ คือ
- สิวหัวช้าง มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงแข็ง มีหลายขนาด ถ้ามีขนาดใหญ่จะหายช้าและถ้าหายแล้วอาจมีรอยดำหรือรอยแผลเป็นบุ๋มได้
สิวหนอง หรือ สิวซีสต์ มีลักษณะเป็นหัวหนองอยู่ต้านบน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณที่มีสิวอุดตัน สิวชนิดนี้มีหลายขนาด ถ้ามีขนาดใหญ่มากและลึก เรียกว่า Cystic acne ภายในจะมีหนองหรือสารเหลวๆ คล้ายเนยเมื่อหายแล้วก็มักจะเป็นรอยแผลเป็นตลอดไป

วิธีการรักษาสิว
- ยารักษาสิว
- การดูแลรักษาผิวหน้า
- การใช้เครื่องมือรักษาสิว
- การฉีดสิว
แผลเป็นที่เกิดจากสิว
แผลเป็นสิว แบบรอยดำ (Hyperpigment Scar) เกิดการปฏิกิริยาการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆหัวสิว มักเกิดขึ้นเนื่องจากสิวมีการติดเชื้อหรือมีขนาดใหญ่และอักเสบอยู่นาน โดยทั่วไปสามารถจางหายได้เอง แต่อาจจะใช้เวลานาน3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับการอักเสบของสิว
แผลเป็นสิว แบบรอยบุ๋ม หลุมสิว ( Atrophic Scar) มักเกิดในคนที่มีสิวเห่อ ,สิวหนองและอักเสบอยู่นาน ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆหัวสิวถูกทำลาย จึงเกิดรอยบุ๋ม หลุมลึก ผิวหน้าไม่เรียบ การเกิดแผลเป็นชนิดนี้ไม่สามารถหายเองได้ อาจต้องใช้การรักษาอื่นๆนอกจากยา ผลการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละคน
แผลเป็นสิว แบบนูน ( Hypertrophic Scar) หรือเรียกว่า “คีลอยด์ ” การรักษาแผลเป็นนูน ต้องใช้การฉีดยาเข้าไปที่แผลเป็น เพื่อให้แผลเป็นยุบตัว นอกจากนั้นก็อาจจะใช้ทายาร่วมด้วย เพื่อช่วยให้รอยแผลเป็นนิ่มลงหรือจางลง
การดูแลรักษาผิวหน้า
- การล้างหน้า ควรล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด อย่าปล่อยให้ใบหน้าสกปรกจนมีไขมันอุดตันอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ควรล้างหน้าด้วยน้ำเย็นจัดเพราะจะทำให้รูขุมขนปิดตัวลง ทำให้สิ่งสกปรกค้างอยู่ในรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย ควรล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติหรืออุ่นเล็กน้อย อาจล้างหน้าด้วยสบู่หรือโฟมที่เหมาะกับผิวหน้า สำหรับผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หน้ามัน อาจล้างหน้าวันละหลายครั้ง โดยทั่วไปควรล้างหน้าวันละ 2-3 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่อาจก่อให้เกิดสิว ในขณะที่เป็นสิวควรงดใช้หรือใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เครื่องสำอางบางอย่างมีส่วนผสมที่ทำให้เกิดสิวมากขึ้นได้ หากใช้แล้วมีสิวเกิดขึ้นควรหยุดใช้ทันที เพราะเครื่องสำอางอาจไปอุดตันรูขุมขนมากขึ้น ทำให้สิวเห่อมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ ควรเลือกเครื่องสำอางแบบที่ไม่มีไขมัน (Oil-Free)จะไม่เป็นมันและล้างออกได้ง่าย ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดสิว และควรใช้โลชั่นเช็ดทำความสะอาดผิวหลังจากการล้างหน้าปกติเพื่อป้องกันการตกค้างของเครื่องสำอางบนผิวหน้าและก่อนใช้เครื่องสำอางชนิดใหม่ๆ ควรทดสอบดูก่อนว่าทำให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดสิวหรือไม่
- พยายามอย่ารบกวนผิวหน้า การบีบ กดสิว ขัดนวดใบหน้า เช็ดถูอย่างรุนแรง หรือบ่อยจนเกินไป เพราะยิ่งจะทำให้ผิวหนังบริเวณรอบๆ สิวเกิดการอักเสบมากขึ้น และโดยเฉพาะถ้ามือไม่สะอาดมีเชื้อโรค ก็ยิ่งจะทำให้สิวอักเสบเป็นหนอง หายยากขึ้น และเกิดรอยแผลเป็น รอยด่างดำ รอยบุ๋มมากขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ ภาวะอดนอน จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้สิวหายยาก ควรเข้านอนไม่เกิน 4-5 ทุ่ม
- ออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากขึ้น เหงื่อจะช่วยผลักดันสิ่งสกปรกออกมาจากรูขุมขน จึงเป็นการทำความสะอาดรูขุมขนและลดการอุดตันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยทำให้การทำงานของระบบต่างๆเป็นปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันและรักษาสิวได้เป็นอย่างดี
- ขจัดความเครียด ควรหาวิธีลดความเครียดที่เกิดขึ้น หรือเลือกทำกิจกรรมที่ชอบและมีความสุข มากกว่าจะหมกมุ่นอยู่กับความเครียดนั้น เพราะยิ่งเครียดมากเท่าไหร่ สิวก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
- ขับถ่ายทุกวัน การขับถ่าย เป็นการนำของเสียออกจากร่างกาย สำหรับคนที่มีปัญหาท้องผูกทำให้ไม่ค่อยสามารถขับถ่ายได้นั้น ให้เพิ่มอาหารประเภทผักและผลไม้ที่มีใยอาหารมากๆ ซึ่งจะมีผลช่วยให้ร่างกายมีการขับถ่ายที่ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มันหรือเผ็ดจัด ควรทานผักสดและผลไม้ให้มากขึ้น และไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักเกินไป
การรักษาสิวและรอยแผลเป็น ในปัจจุบัน มีแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพดี มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ทั้งนี้การรักษาที่ดี ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การรักษาและคำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อลดการเกิดแผลเป็น และการเกิดสิวซ้ำ สิวเรื้อรังในอนาคต