คลินิกโรคผิวหนัง

ลมพิษ (Urticaria)

ลมพิษ (Urticaria) เป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย เกิดจากร่างกายสัมผัสถูกสารเคมี พิษแมลงสัตว์กัดต่อย อื่นๆ ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น จึงเกิดอาการแพ้ มักจะเกิดอย่างรวดเร็ว ความรุนแรงแตกต่างกัน โดยมากมักจะเห็นผื่น บวม นูน แดง มีขนาดใหญ่เล็ฏแตกต่างกัน มีอาการคันมาก หรืออาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่เป็นผื่น นอกจากนั้น ผื่นลมพิษสามารถเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนในร่างกาย ผิวหนัง ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น คอ หรือหู ในรายที่ไม่รุนแรง ผื่นก็อาจยุบหายได้ภายใน 1 วัน แต่บางราย มีอาการมาก บวมเห่อ ขยายวงกว้าง ควรไปพบแพทย์โดยทันที

ลมพิษแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาและอาการที่เกิดขึ้น คือ

  1. ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ลมพิษที่เกิดขึ้นมาและหายไปได้เองอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปเองภายในเวลา 48 ชั่วโมง หรือในรายที่เป็นนาน ก็จะเป็นติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
  2. ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) มีอาการลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยส่วนใหญ่ลมพิษชนิดเรื้อรังจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของลมพิษจะทำให้เกิดความรำคาญหรือความไม่สบายตัวมาก ๆ ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิต หรือการนอนหลับของผู้เป็นลมพิษได้

การรักษาลมพิษ

หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ สิ่งกระตุ้นต่างๆ แมลงสัตว์กัดต่อย

ประคบน้ำเย็น หรือ น้ำแข็ง ช่วยลดปฏิกิริยาการแพ้ได้ แต่ต้องรีบทำในช่วงแรกๆที่เกิดอาการ

ใช้ยาทา ครีม โลชั่นต่างๆ เช่น คาลามายด์โลชั่น ช่วยลดอาการคัน ทำให้ผิวหนังเย็น ลดอาการปวดแสบปวดร้อน

สเตรียรอยด์ครีม ช่วยลดปฎิกิริยาการแพ้ได้

ยารับประทาน เช่น ยารักษาอาการคัน ยาทาหรือประเภทสารต้านฮีสตามีน โดยสามารถใช้ยาเองได้ที่บ้าน

ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษ

ผู้ป่วยลมพิษทั้งระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง อาจจะมีการพัฒนาไปเป็นแองจิโออีดีมา (Angioedema) ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงมากขึ้น ผิวหนังจะมีอาการบวมและปวดมาก บางรายที่เป้นรุนแรง อาจเกิดอาการทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการหายใจขัด มีอาการหอบหืดอย่างรวดเร็ว ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะต้องได้รับการรักษาทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ผื่นแพ้ผิวหนัง Allergic skin

ผื่นแพ้ผิวหนัง เป็นภาวะที่ผิวมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภายในผิวหนังเกิดเป็นผื่นแพ้ได้ เกดิได้ทุกเพศทุกวัย ในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ จะมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น

สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดผื่นแพ้

  1. สภาพวะอากาศ เช่น อากาศร้อน เย็น ฝุ่นละออง
  2. การใช้สารเคมีหรือเครื่องสำอางบริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ผงซักฟอก
  3. การสัมผัสสิ่งนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งซ้ำๆ เช่น แพ้ยางยืดขอบกางเกง แพ้พลาสเตอร์ยา เสื้อผ้า ผ้าอ้อม เป็นต้น
  4. อาหารบางชนิด ได้แก่ นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล
  5. แมลงสัตว์กัดต่อย ปฏิกิริยาตอบสนองต่อพิษของสัตว์ จะแตกต่างไปตามแต่ละบุคคล

อาการของผื่นแพ้

  1. คัน มักจะมีอาการคัน ระคายเคือง มากหรือน้อยแตกต่างกันไป
  2. รอยนูนแดง หรือ ผดผื่น อาจจะเกิดตุ้มนูนแดงคล้ายยุงกัด หรือผดผื่นแดง
  3. ตุ่มน้ำใสๆ ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับอาการคัน  เกิดเป็นกลุ่มๆ ตามบริเวณที่มีการสัมผัส

 

การรักษา

1.หลีกเลี่ยงปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ถ้าทำได้ อาการผื่นแพ้ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ถ้าได้รับสิ่งกระตุ้นซ้ำๆ อาการก็อาจจะรุนแรงขึ้น หายยากขึ้น

2.เมื่อมีอาการคัน พยายามอย่าเกา เนื่องจากการเกา จะเป็นการเร่งปฏิกิริยาการแพ้ให้กระจายออกไป ทำให้ผื่นลุกลามออกไปมากขึ้น วิธ๊แก้ไข ถ้าเป็นบางบริเวณ ให้เอาผ้าชุบน้ำเย็นจัดมาประคบ จะช่วยลดอาการคันได้ หรือถ้าเป็นทั่วตัว ก็ให้อาบน้ำบ่อยๆ และทาแป้งเย็น ก็จะลดอาการคันลงได้

3.การรักษาด้วยยา ผื่นแพ้ทั่วไป สามารถรับประทานยาแล้วหายได้ เช่น ยาแก้แพ้ต่างๆ มีทั้งยากินและยาทา ที่มีข้อบ่งใช้แตกต่างกันไป หรือหากมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ผื่นจะลุกลามออกไป

โรคงูสวัด (Herpes Zoster)

โรคงูสวัด ( Herpes Zoster) เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง VZV ซึ่งมักจะหลบซ่อนอยู่ตามปมประสาทใต้ผิวหนัง หลังจากเป็นอีสุกอีใสแล้ว จะแฝงตัวอยู่ เมื่อใดก็ตามที่ภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง เช่น อายุมาก เครียด อดนอน ติดเชื้อ HIV หรือมะเร็ง ก็จะทำให้เชื้อนี้สามารถเจริญและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายไปตามเส้นประสาท ทำให้เกิดผื่นที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นตุ่มใสเรียงกันตามแนวเส้นประสาท

อาการของโรคงูสวัด

เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังบางแห่ง หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นแดงคัน เป็นแนวยาวตามเส้นประสาท เป็นแถบๆ มักจะเป็นด้านใดด้านหนึ่ง หลังจากนั้นผื่นแดงก็จะกลายเป็นตุ่มน้ำใส บางคนก็จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนมาก หรือมีตุ่มหนอง หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากภูมิคุ้มกันปกติ ก็สามารถตกสะเก็ดและหายได้เอง แต่มักจะมีรอยแผลเป็นเกิดขึ้น

 การรักษาโรคงูสวัด

  1. ในระยะที่เป็นผื่นแดงคันหรือตุ่มน้ำใส ให้พยายามรักษาความสะอาด ไม่แกะเกา เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำทำให้เป็นหนองได้ หากตุ่มน้ำแตกออก ให้ใช้น้ำเกลือล้างแผล ชะล้างเป็นประจำ วันละ 3-4 ครั้ง
  2. การใช้ยาทา ปัจจุบันมียาต่านไวรัสสำหรับโรคงูสวัดและโรคเริม มีทั้งยากินและยาทา หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ยา ทางที่ดี ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นการดีที่สุด
  3. ในรายที่ผื่นขึ้นที่อวัยวะสำคัญ เช่นรอบดวงตา หรือมีการแพร่กระจายทั้งตัว เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำมาก หรือตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความรุนแรงของโรค
  4. สมุนไพรไทย

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

เป็นโรคผิวหนังที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็วผิดปกติ จนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ โรคนี้สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย

โรคสะเก็ดเงิน มีอยู่หลายชนิด แบ่งตามลักษณะต่างๆดังต่อไปนี้

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาหรือปื้นหนา (Plaque Psoriasis/Psoriasis Vulgaris) เป็นชนิดที่พบมากที่สุดประมาณ 80% บริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผิวบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) เป็นชนิดที่มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยพบได้ประมาณ 10% ของโรคสะเก็ดเงินที่เกิดกับผู้ป่วย ลักษณะผิวหนังจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็ก และอาจกลายเป็นผื่นหนาสีแดงได้เหมือนกับชนิดผื่นหนา สามารถเกิดได้บ่อยที่แขน ขา หรือตามลำตัว

โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้างและเกิดการอักเสบจนแดง มักพบมากตามแขนขา อาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง ไม่อยากอาหาร
โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดตามข้อพับ (Inverse Psoriasis/Intertriginous Psoriasis) ผิวหนังเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา มักเกิดขึ้นตามข้อพับและซอกต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ หรือรอบอวัยวะเพศ  

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 3% โดยผิวหนังจะเกิดผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันและเจ็บ

 

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

ผู้ป่วยจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรคสะเก็ดเงินที่ผู้ป่วยเป็น ความผิดปกติที่พบได้บ่อยตามร่างกาย เช่น ผิวหนังมีลักษณะแดง ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว เป็นผื่นแดงนูน เกิดการอักเสบของผิว ผิวแห้งมากจนแตกและมีเลือดออก หนังศีรษะลอกเป็นขุย เล็บมือและเท้าหนาขึ้น มีรอยบุ๋ม ผิดรูปทรง ปวดข้อต่อและมีอาการบวมตามข้อต่อ และยังทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บ คัน หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณผิวหนัง ซึ่งการดำเนินของโรคแต่ละชนิดมีความคล้ายคลึงกัน อาการอาจคงอยู่นานหลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ บรรเทาลง แต่เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นก็อาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ในรายที่อาการไม่กำเริบอาจอยู่ในระยะสงบของโรค จึงทำให้ผู้ป่วยไม่พบอาการผิดปกติที่แสดงออกมา

 

สาเหตุการเกิดโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาของโรคขึ้นได้อาจมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ จึงได้ทำลายเซลล์ผิวหนังแทนสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย และอีกปัจจัยมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ของคนในครอบครัวที่เป็นโรคสะเก็ดเงินและโรคผิวหนังอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดโรคได้ เช่น การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง การติดเชื้อเอชไอวี การใช้ยารักษาโรคหัวใจและความดันสูง หรือความเครียด ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

 

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดการอักเสบและผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็ง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงน้อยถึงปานกลางอาจรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก ส่วนในรายที่มีอาการปานกลางไปจนถึงรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยารับประทาน ยาฉีดเข้าเส้น หรือการฉายแสงด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต การรักษาอาจใช้หลายวิธีควบคู่กันหรือเพียงวิธีเดียว เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมีการดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ระมัดระวังการรับประทานวิตามินเสริม หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ รวมไปถึงลดน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นมาได้

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือการติดเชื้อ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงของโรคระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับปัญหาที่รบกวนทางด้านจิตใจ เช่น แยกตัวออกจากสังคม รู้สึกหดหู่ หมดความมั่นใจ เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากสภาพร่างกายภายนอกที่เกิดจากโรค

โรคเชื้อรา กลาก เกลื้อน (Fungal Skin Infection)

กลาก ( Dermatophytosis)

เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย

โรคกลากทีหนังศีรษะและเส้นผม ทำให้เกิดอาการร่วงเป็นหย่อมๆ เส้นผมบริเวณนั้นจะหักและหลุดร่วง หนังศีรษะจะเป็นผื่นแดง ขุยหีชือสะเก็ดขาวๆ คล้ายรังแค และมักจะมีอาการคันหนังศีรษะ ถ้าเป็นมากจะกลายเป็นตุ่ม หนอง เรียกว่า ชันนะตุ มักพบในเด็ก ติดต่อกันได้ในเด็กที่เล่นคลุกคลีกัน

โรคกลากที่ลำตัว และใบหน้า จะเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด มักเห็นเป็นดวงรูปวงแหวนสีแดง มีขุยขาว ๆ มีอาการคันหรืออาจไม่คันก็ได้ ถ้าเป็นแล้วทิ้งไว้นานผื่นจะขยายออกเรื่อย ๆ ตามบริเวณหน้าอก หลัง รักแร้ ข้อพับ

โรคกลากที่ขาหนีบ มักพบเมื่อมีอายุเข้าสู่วัยรุ่น พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนมากจะเกิดในคนอ้วน หรือ เหงื่อออกมาก หมักหมม ไม่รักษาความสะอาด จะเริ่มมีตุ่มแดงที่ต้นขาหรือขาหนีบ ผื่นขยายออกเป็นปื้นๆ มีอาการคันมาก

โรคกลากที่มือและเท้า ส่วนมากมักจะพบที่เท้า เนื่องจากความอับชื้น หมักหมม รองเท้าหุ้มส้น หรือ เดินลุยน้ำขังเฉอะแฉะ อาการจะเกิดตามง่ามนิ้ว มีอาการคันมาก

เกลื้อน (Tinea Versicolor)

เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังทั่วไปชนิดหนึ่ง เกิดจากราที่อาศัยอยู่ตามผิวหนัง ปรากฏในลักษณะเป็นดวงเล็ก ๆ ที่อาจมีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวปกติบริเวณรอบ โดยมักเกิดขึ้นที่ลำตัวหรือต้นแขน และหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาก็จะสามารถรวมตัวกันและขยายเป็นดวงใหญ่ขึ้น

 

อาการของโรคเกลื้อน

มีดวงขึ้นเป็นสีขาว ชมพู แดง หรือน้ำตาล โดยจะมีสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิวหนังปกติบริเวณรอบ อาจขึ้นเป็นดวงเดียวหรือหลายดวงก็ได้ มักพบบริเวณลำตัว คอ ต้นแขน และหลัง ดวงเกลื้อนอาจจางลงหรือหายไปเมื่อสภาพอากาศเย็น หรืออาการอาจแย่ลงหากอากาศร้อนหรือชื้น ทำให้ผิวแห้ง ตกสะเก็ด หรือคัน

 

ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ

ไฝ (Mole) และ ขี้แมลงวัน (Fleck) เป็นความผิดปกติของเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) มารวมกัน กลายเป็นตุ่มเนื้อที่มีสีต่างๆ ตั้งแต่สีน้ำตาลหรือสีดำ ไฝ จะมีลักษณะเป็นเนื้อนูนสีดำเข้ม ส่วนขี้แมลงวัน จะเป็นตุ่มราบๆสีน้ำตาลหรือสีดำ แต่อยู่ตื้นกว่าไฝ ส่วนกระเนื้อ ก็เป็นตุ่มเนื้อนูนเช่นกัน แต่จะมีขนาดเล็ก สีจางกว่า และอยู่ตื้นกว่าไฝและขี้แมลงวัน สามารถรักษาได้โดยการตัดออก ซึ่งอาจจะเกิดรอยแผลตื้นๆชั่วคราว ในกรณีที่มีขนาดเล็ก หรือมีรอยแผลเป็นตื้นถาวร กรณีที่มีขนาดใหญ่และลึก

ตาปลา ( CORNS)

สาเหตุของตาปลา

  1. การเสียดสี หรือ กดทับ เช่น การสวมรองเท้าที่คับแน่นเกินไป รองเท้าส้นสูง การเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม การจับใช้ดินสอหรือปากกาไม่เหมาะสม การขับรถจับพวงมาลัยรถนานๆ การหิ้วของหนักบ่อยๆ ช่างตีเหล็ก ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างแกะสลัก ที่ต้องทำงานซ้ำๆเป็นเวลานานๆ อวัยวะที่เกิดการกดและเสียดสี ก็จะเกิดตาปลาขึ้นได้ การนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ ฯลฯ
  2. ความผิดปกติของการผิดรูป เช่น นิ้วมือนิ้วเท้าผิดรูป ไม่เหมือนปกติ จึงทำให้เกิดกระดูกโปนนูน บริเวณต่างๆ ทำให้เกิดการเสียดสีได้ง่าย ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ โรคเกาท์ จนเกิดการผิดรูป ก็ทำให้เกิดตาปลาได้

การรักษาตาปลา

  1. แก้ไขสาเหตุ คือการลดแรงกดทับและหลีกเลี่ยงการเสียดสี ตามสาเหตุเช่น การเปลี่ยนรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า หากมีบริเวณที่กดทับ อาจจะใช้แผ่นซิลิโคนหรือยาง รองบริเวณนั้น การสวมถุงมือหรือถุงเท้า สามารถช่วยลดการเสียดสีได้
  2. การกำจัดตาปลา
    1. ใช้แผ่นแปะ พลาสเตอร์ ที่มีกรดซาลิไซลิก ที่สามารถทำให้ตาปลานิ่มลงและหลุดลอกได้ โดยแปะทิ้งไว้ต่อเนื่อง 2-3 วัน แต่มักได้ผลดีในตาปลาที่มีขนาดเล็ก ตื้น
    2. การผ่าตัด โดยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดตาปลาในกรณีที่มีขนาดใหญ่ ร่วมกับมีอาการเจ็บ หลังผ่าตัดก็จะมีแผลตื้นๆ ใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน ผิวหนังก็จะสมานเป็นปกติ