สุขภาพที่ดี. เริ่มต้นจากภายใน

มิถุนายน 19, 2018

หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคเรื้อรังต่างๆที่ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือต้องกินยาหลายขนานไปตลอดชีวิต  สาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายไม่สอดคล้องกัน หรือเกิดความบกพร่องทั้งโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่างๆในร่างกายทีละเล็กละน้อย เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักธรรมชาติ หรือฝืนธรรมชาติ ซึ่งมีการบันทึกไว้ในสมัยโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว พฤติกรรมก่อโรคมี8ประการ (8อ)คือ

1.  อาหาร พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องเช่น กินมากเกินไป(อาหารบุฟเฟ่ต์ต่างๆ), กินอาหารบูดเน่า, กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ (junk food), กินอาหารไม่ตรงเวลา หรือดื่มน้ำน้อย ดื่มเครื่องดื่มชากาแฟ สุรา  น้ำอัดลม  ก่อให้เกิดกรดและแก้สในกระเพาะอาหารมากเกินไป หรือกินอาหารดึกเกินไปกินแล้วก็เข้านอนในขณะที่อาหารยังย่อยไม่หมด

2.  อิริยาบถ ซึ่งหมายถึงการนั่ง การนอน การยืน ต้องสลับสับเปลี่ยนให้เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ในปัจจุบันมักเกี่ยวโยงกับอาชีพเช่น พนักงานขับรถเมล์-นั่งนานเกินไป กระเป๋ารถเมล์-ยืนนานเกินไป พนักงานออฟฟิศ-นั่งนานและใช้สายตาดูคอมพิวเตอร์มากเกินไป กรรมกร-แบกของหนักเกินกำลัง เหล่านี้เป็นต้น

3.  อุณหภูมิ อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ทั้งภายนอกและภายในร่างกายล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดโรคทั้งสิ้น อากาศแปรปรวน ทำให้คนที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้นการที่เราเป็นหวัดเป็นไข้ในขณะที่คนอื่นๆรอบข้างหรือคนบางคนในครอบครัวไม่เป็นหวัดด้วย แสดงว่าคนเหล่านั้นมีร่างกายที่แข็งแรงต่อสู้กับเชื้อโรคได้

4.  อดข้าวอดน้ำอดนอน เป็นการฝืนธรรมชาติ เมื่อปฏิบัตินานนานเข้าก็จะก่อให้เกิดโรคตามมาเช่น อดข้าวกินอาหารไม่ตรงเวลา ร่างกายของเรามีนาฬิกาชีวิต การทำงานของร่างกายมีระบบระเบียบที่ชัดเจน เรียงตามลำดับการทำงานตามเวลาทั้ง24ชม. เมื่อกระเพาะว่างสมองสั่งงานให้กินอาหาร แต่เราไม่กิน น้ำย่อยก็จะออกมาย่อยกระเพาะเราเอง นานนานเข้าก็จะเกิดอาการแผลในกระเพาะอาหารตามมา

5.  อุจจาระปัสสาวะ การขับถ่ายเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ภาวะเร่งรีบในปัจจุบันหรือพฤติกรรมต่างๆเปลี่ยนแปลงไป ตามนาฬิกาชีวิตในเวลาเช้าช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่คือตี5ถึง7โมงเช้า ควรตื่นมาขับถ่ายอุจจาระ แต่หลายๆคนก็ยังนอนไม่ตื่นเพราะเข้านอนดึก หรือหลายคนก็ตื่นมาแล้วแต่ต้องรีบขับรถไปทำงาน ทำให้อุจจาระคั่งค้างในลำไส้ นานวันเข้าก็จะก่อให้เกิดโรคต่างๆเช่น ริดสีดวง ลำไส้แปรปรวน ท้องผูกอาหารไม่ย่อย จนถึงมะเร็งลำไส้

6.  ออกกำลังกาย ในสมัยก่อนการไปไหนมาไหนก็ต้องใช้เท้าเดินหรือขี่จักรยาน ก็ได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ แต่ปัจจุบันมีรถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ก็ไม่ต้องออกแรง กล้ามเนื้อสะโพกและขาไม่ถูกใช้งาน นานเข้าก็เละเหลว เมื่อออกกำลังหรือท่าทางไม่ถูกต้อง ก็เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย หรือเกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายจากการใช้งานหนักเกินไปการทำงานของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อไม่สมดุลกัน จึงก่อให้เกิดโรค ดังนั้นจึงควรจัดสรรเวลาเพื่อออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆให้เหมาะสมกับเพศและวัย เพื่อให้ระบบต่างๆได้เคลื่อนไหวให้เป็นปกติ

7.  อารมณ์โศกเศร้า อารมณ์ต่างๆมีผลกับระบบการทำงานของร่างกาย ในทฤษฎีการแพทย์แผนจีน ได้มีการบันทึกสาเหตุการเกิดโรคเนื่องจากอารมณ์แปรปรวน เรียกว่า”อารมณ์ทั้ง7″ โกรธ-ทำลายตับ  ดีใจ-ทำลายหัวใจ ครุ่นคิดวิตกกังวล-ทำลายม้าม(ระบบย่อยอาหาร) โศรกเศร้าเสียใจ-ทำลายปอด ตกใจหวาดกลัว-ทำลายไต(ตกใจแล้วปัสสาวะราด) ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ก็กล่าวถึงอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ มีผลทำให้ร่างกายเสื่อมถอยก่อให้เกิดโรคได้

8.  อารมณ์โกรธ คือโทสะ ทำให้ร่างกายแปรปรวน มักเป็นโรคเกี่ยวกับตับหรือความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีความเครียดสะสม มีโอกาสเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตจากเส้นเลือดในสมองแตกได้หากมีโรคอยู่แล้ว

ดังนั้น แนวโน้มการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆในปัจจุบันจึงต้องเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพจากภายใน ปรับสมดุลของระบบต่างๆภายในร่างกาย สมดุลธาตุทั้ง4-ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ ให้ทำงานเป็นปกติสอดคล้องกันตามนาฬิกาชีวิต  ซึ่งทุกระบบในร่างกายล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ในการดำเนินชีวิตระบบต่างๆต้องทำงานอย่างสมดุลไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป มิฉะนั้นก็จะก่อเกิดโรคต่างๆ

หากคนที่เป็นโรคอยู่แล้วเข้าใจหลักธรรมชาติเหล่านี้ และนำไปปฏิบัติอย่างถูกวิธีก็จะทำให้โรคต่างๆหายหรือบรรเทาลดลงไปได้ในที่สุด “อโรคยา ปรมาลาภา” การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ

บทความจาก  พญ.ธมนต์พร ชัยศิริรัตน์