ลดน้ำหนัก

รู้ได้อย่างไรว่าอ้วน

ก่อนที่จะรู้ว่าอ้วนหรือไม่นั้น   จะต้องดูลักษณะโครงร่างของร่างกายก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร   เพราะบางคนมีโครงร่างเล็ก  ตัวเตี้ยน้ำหนักตัวน้อยกว่าคนที่สูงหรือโครงร่างใหญ่ก็จริงแต่อาจดูอ้วนกว่าก็ได้  เพราะมีปริมาณของไขมันมาก ในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวร่างกายจะมีการเจริญเติบโตของโครงกระดูกอย่างรวดเร็ว   จึงทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในเพศชาย  จะมีการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าเพศหญิง แต่เมื่ออายุมากขึ้น เริ่มตั้งแต่อายุย่าง25 ปีขึ้นไป โครงกระดูกเล็กน้อย จนถึงอายุ   40 ปี ขึ้นไปพบว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วขึ้นอีกเนื่องจากร่างกายในวัยนี้ จะมีความต้องการพลังงานลดลง ดังนั้นหากยังบริโภคอาหารเท่าเดิม  ก็ทำให้มีพลังงานเหลือเฟือและเก็บสะสมเป็นไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย  น้ำหนักจึงเพิ่มขึ้นได้

หากเปรียบเทียบแนวโน้มสัดส่วนต่างๆของร่างกายตามอายุ โดยเปรียบเทียบสัดส่วนต่างๆ  คือ  รอบเอว , รอบใต้อก , รอบอก , รอบหน้าท้อง  และรอบสะโพก ตั้งแต่อายุ 17-19  ปีจนถึง  45-49  ปี จะพบว่าสัดส่วนต่างๆมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นหากสังเกตจากกราฟจะเห็นได้ว่าช่วงอายุ25-29  ปีถึง 30-34  ปีจะสูงชันมากกว่าช่วงอายุอื่น  จึงกล่าวได้ว่า อายุในช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้มากที่สุด  โดยสัดส่วนต่างๆที่เพิ่มขึ้นเรียงตามลำดับคือ   รอบเอว , รอบใต้อก , รอบอก , รอบหน้าท้อง , รอบสะโพก

การหาดัชนีความหนาของร่างกาย   (BMI)

ค่าดัชนีความหนาของร่างกายหรือเรียกย่อๆว่า  BMI  นั้นใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ   20  ปีขึ้นไป  ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายสามารถคำนวณได้จากสูตร  โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม  และวัดความสูเป็นเมตร  แล้วคำนวณหาค่าดัชนีความหนาของร่างกาย  โดยเอาน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมตั้งแล้วหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง  ดังนี้

สูตรการหา BMI = น้ำหนักตัว (กก.)

                             ส่วนสูง (เมตร)2

ดังนั้น  ค่าดัชนีความหนาของร่างกายจะเป็นหน่วยเป็น กิโลกรัม/ตารางเมตร  (กก./ม2)  หลังจากได้ค่า BM แล้วจึงนำไปเปรียบเทียบในตาราง  ซึ่งจะบ่งบอกว่าค่าที่ได้นั้นอยู่ในภาวะใด

ตารางแสดงการแบ่งระดับความอ้วน

ภาวะ ดัชนีความหนาของร่างกาย (กก./ม2)
ผอม ระดับ 1 18.5 – 19.9
ระดับ 2 17.0 – 18.4
ระดับ 3 16.0 – 16.9
ปกติ 20.0 -24.9
อ้วน ระดับ 1 25.0 – 29.9
ระดับ 2 30.0 – 39.9
ระดับ 3 40 ขึ้นไป

ตารางแสดงดัชนีมวลกาย จากน้ำหนักและส่วนสูง

ความสำคัญของดัชนีความหนาของร่างกายต่อสุขภาพ

         เนื่องจากคนที่เป็นโรคอ้วน  จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ   ดังนั้นคนที่มีค่า  BMI  สูงตั้งแต่  25.0   กก./มซึ่งจัดได้ว่าเป็นคนอ้วน  ก็จะมีโอกาสเกิดโรคเหล่านี้ได้มากขึ้น  อาทิเช่น โรคความดันเลือดสูง , โรคเบาหวาน , โรคหัวใจขาดเลือด และโรคนิ่วในถุงน้ำดี  เป็นต้น  ส่วนคนที่มีค่า  BMI  ต่ำกว่า 20.0  กก./มจัดว่าเป็นคนผอม  ก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน  คนผอมเรี่ยวแรงน้อยประสิทธิภาพในการทำงานลดลง  ภูมิต้านทานโรคลดน้อยลงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆได้ง่าย   ดังนั้นการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติถือเป็นเรื่องสำคัญ  โดยมีดัชนีความหนาของร่างกายอยู่ระหว่าง  20.0  –  24.9  กก./ม2   จากสถิติรวบรวมในหลายหลายประเทศจะพบว่า  คนอ้วนจะมีอายุสั้นกว่าคนที่ไม่อ้วน  นอกจากนี้ยังพบว่า  หากคนอ้วนที่มีค่า BMI  มากกว่า 30  จะมีอัตราตายสูงขึ้นถึง  30 %   คนอ้วนยังมีโอกาสเกิดโรคต่างๆ มากมายทั้งที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย   ทรมาน  เรื้อรังและอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตด้วย  นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่  อาชีพการงาน  และรวมถึงสภาพจิตใจอีกด้วย

อ้วนแล้วไม่ดีอย่างไร?

อ้วนกับโรคหัวใจและหลอดเลือด 

         คนอ้วนที่มีโอกาสเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนปกติถึง  4  เท่า  และมักจะเสียชีวิตจากสาเหตุโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากที่สุด  นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานถึงร้อยละ  20  %จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจวายมากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า  โรคหลอดเลือดหัวใจตีบต้นเกิดจากการที่มีไขมันไปเกาะติดอยู่บริเวณผนังเส้นเลือด  เมื่อสะสมนานวันขึ้นก็จะพอกพูนจนกระทั่งทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้นตีบแคบ   เลือดไหลไม่สะดวก  เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง  กล้ามเนื้อหัวใจตายกะทันหัน  เกิดหัวใจวายและเสียชีวิตได้ในที่สุด  แต่หากการสะสมไขมันเกิดขึ้นช้าๆ ก็มีผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักขึ้น  ทำให้หัวใจโตผิดปกติ  ถ้าเป็นนานๆ ก็จะทำให้เกิดการทำงานของหัวใจล้มเหลว  หัวใจวายได้  โรคนี้บางครั้งก็มีอาการเตือนก่อน  เช่น เจ็บปวด แน่นหน้าอกด้านซ้ายเวลาเหนื่อย,ขณะออกกำลังกาย, เครียดหรือโกธร  อาการเจ็บอกอาจหายไปในเวลาไม่กี่นาที  แต่บางครั้งอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  รุนแรงและเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

อ้วนกับโรคความดันเลือดสูง

             ความอ้วนกับความดันเลือดสูงเป็นของคู่กัน    แต่ก็ไม่ทราบกลไกที่แน่นอนว่าทำไมโรคความดันเลือดสูงจึงมักเกิดในคนอ้วน  แต่พบว่าหากมีการลดน้ำหนักตัวลงจะทำให้ความดันต่ำลงด้วย  จากการศึกษาพบว่า ถ้าหากลดน้ำหนักตัวลงอย่างน้อย 7 กิโลกรัม  จะสามารถลดความดันได้ถึง 15-20 มิลลิเมตรปรอท

อ้วนกับโรคกระดุกและข้อ

 โดยเฉพาะกระดุกข้อเข่า  ซึ่งบริเวณที่ต้องแบกน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลา  การมีน้ำหนักตัวมากเกินก็เปรียบเสมือนกับการที่เข่าเจ้ากรรมจะต้องแบกตุ่มใบใหญ่อยู่ตลอดเวลา  เมื่อนานวันเข้าข้อเข่าก็จะเริ่มสึกกร่อน  เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ  หรือที่เรียกว่าโรคข้อเข่าเสื่อม(Osteoarthritis)  โรคนี้ถ้าใครไม่เคยเป็นก็จะไม่รู้ว่าทรมานมากแค่ไหน  ถ้าเป็นมากจะมีอาการเจ็บปวดบวมที่ข้อเข่า  เดินไม่ได้เลยก็มีโดยเฉพาะในเพศหญิงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน  จะมีแนวโน้มที่จะเกิดข้อเข่าเสื่อมเนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศจากรังไข่  ซึ่งมีผลให้เกิดการผุกกร่อนของกระดุกมากกว่าปกติ  ดังนั้นถ้าหากยิ่งอ้วนมากขึ้นก็ยิ่งจะเร่งให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้นกว่าปกติ  การรักษาโรคกระดุกข้อเข่าเสื่อมนั้น  ในปัจจุบันมักจะรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและลดการอักเสบ  แต่หากยังไม่ดีขึ้นหรือข้อเข่าผุกร่อนผิดรูปร่างจนเดินไม่ได้  ก็จะต้องทำการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมแทนข้อเข่าเดิม

 อ้วนกับโรคระบบทางเดินอาหารและถุงน้ำดี

 พบโรคนิ่วในถุงน้ำดีในคนอ้วนมากกว่าคนน้ำหนักปกติถึง 3 เท่า  เข้าใจว่าเกิดจากการสร้างโคเลสเตอรอลและขับออกทางน้ำดีเพิ่มขึ้น  ทำให้น้ำดีในถุงน้ำดีมีความเข้มข้นมากขึ้นจนจับตัวกลายเป็นก้อนนิ่วเกิดขึ้น  นอกจากนี้คนอ้วนมักมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด, อาหารไม่ย่อย และมีลมในลำไส้มาก  ซึ้งอาจเกี่ยวข้องกับโรคนิ่วก็ได้  นอกจากนี้คนอ้วนอาจจะมีตับโตเนื่องจากมีไขมันสะสมที่ตับมากเรียก  Fatty  liver

อ้วนกับโรคมะเร็ง

 คนอ้วนมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งที่อวัยวะต่างๆมากกว่าคนที่ไม่อ้วนถึง 40-55% โดยจากการศึกษาพบว่าคนที่อ้วนมากคือมีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตราฐานประมาณ 40%  ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งของมดลูก รังไข่ และเต้านมมากขึ้น  แต่ถ้าเป็นผู้ชาย  ก็จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และต่อมลูกหมากได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ

อ้วนกับการตั้งครรภ์

คนอ้วนมักจะมีโอกาสตั้งครรภ์ยาก  และหากตั้งครรภ์แล้วก็มักจะเกิดปัญหาได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ  อาทิเช่น มีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ, คลอดยาก, ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ หรือ ตกเลือดหลังคลอด  นอกจากนี้แล้วยังพบว่าทารกที่เกิดจากมารดาที่อ้วนมักจะตัวโตและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าปกติ

 อ้วนกับโรคผิวหนัง

 คนอ้วนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนังโดยเฉพาะคนที่อ้วนมาก  มักเกิดโรคติดเชื้อหรือเชื้อราบริเวณรอยพับ ซอกคอ ขาหนีบ นอกจากนี้มักจะมีรอยด่างดำที่เกิดจากการเสียดสีของผิวหนัง เช่น รักแร้, ขาหนีบ หรือข้อพับต่างๆ

 อ้วนกับการผ่าตัดและดมยาสลบ

 คนอ้วนมีโอกาสที่จะเกิดผลแทรกซ้อนมากตั้งแต่เริ่มดมยาสลบ  ระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด  การผ่าตัดต้องใช้เวลานานโดยเฉพาะการผ่าตัดในช่องท้องเพราะไขมันมากและหนา  และมีการเสียเลือดมากขึ้นหลังผ่าตัดอาจจะมีผลแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับแผล  การหายใจ  นอกจากนี้ในระหว่างดูแลให้สารน้ำหรือน้ำเหลือก็จะยากลำบากกว่า  เนื่องจากค้นหาเส้นเลือดที่จะให้น้ำเกลือได้ยาก

 อ้วนกับการตรวจวินิจฉัยโรค

 เครื่องมือแพทย์ต้องการตรวจร่างกายเพื่อนวินิจฉัยโรคจะพบว่าคนผอมจะตรวจร่างกายได้สะดวกและง่ายกว่าคนอ้วน  ผลการตรวจก็จะแน่นอนมากกว่า  ไม่ว่าจะเป็นการฟังเสียงหัวใจ, ลมหายใจ, ลำไส้ ฯลฯ หรือคลำอวัยวะต่างๆ จากภายนอกเช่น ตับ, ก้อนเนื้อที่ผิดปกติ  ซึ่งในคนอ้วนมักจะมีไขมันมาก  ทำให้ผลการตรวจไม่แน่ชัด  แม้แต่ภาพเอ็กซเรย์ในคนอ้วนก็จะไม่ชัดเจนเท่ากับในคนผอม  ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น

 อ้วนกับภาวะทางจิตใจ

 คนอ้วนบางคนมีอารมณ์ดี  จิตใจร่าเริงแจ่มใส  แต่ก็มีคนอ้วนอีกไม่น้อยที่มักขาดความมั่นใจในตัวเอง  เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างที่ดูอุ้ยอ้าย, อ้วนเป็นพะโล้  จึงมักจะถูกล้อเลียนเปรียบเปรยอยู่เสมอ  ทำให้รู้สึกเป็นปมด้อย  การแต่งกายให้สวยงามก็เป็นเรื่องยากในด้านชีวิตสมรสก็อาจจะเกิดปัญหาด้วย  ยิ่งถ้าก่อนแต่งงานผอมหุ่นเพรียวแต่พออยู่ๆกันไป  ยิ่งอ้วนขึ้นอ้วนขึ้นทุกที  เห็นท่าคู่สมรสอาจจะปรับตัวรับไม่ได้  ก็จะเกิดปัญหาต่างๆตามมา  หากมีปัญหาหรือรู้สึกกังวล  ทุกข์ใจก็จะเกิดความเครียด  “ยิ่งเครียดก็ยิ่งกิน…ยิ่งกินก็ยิ่งอ้วน”  ทางที่ดีควรดูแลเอาใจใส่ระมัดระวังอย่าให้อ้วนจะดีกว่า

วิธีการลดน้ำหนัก

1.การใช้ยาลดน้ำหนัก

ยาลดน้ำหนัก   ปัจจุบันการลดน้ำหนักโดยการรับประทานยาลดความอ้วนกำลังเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย  โดยเฉพาะในคนที่อ้วนแล้วไม่สามารถควบคุมการกินอาหาร  หรือไม่ชอบออกกำลังกาย  คนอ้วนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นในการลดน้ำหนักแทน  ซึ่งการรับประทานยาลดความอ้วนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง  เพราะเป็นวิธีที่ง่าย  สะดวกรวดเร็ว  เพียงแต่รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้นก็สามารถลดน้ำหนักได้ตามต้องการ  ถึงแม้ว่าการลดน้ำหนักโดยวิธีการกินยาลดความอ้วนนี้  จะเป็นวิธีที่ได้ผลดีก็ตาม  แต่การใช้ยาเหล่านี้ควรจะอยู่ในความดูแลของแพทย์  เนื่องจากยาลดความอ้วนมีมากมายหลายประเภท  มีขนาดและการใช้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคน  ก่อนใช้ยาจึงควรมีความรู้หรือความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับผลของยาและการปฏิบัติตัวเสียก่อน  เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้อง  ก็อาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้  และที่สำคัญไม่ควรซื้อยาเหล่านี้มารับประทานเอง 

                ดังนั้นก่อนจะรับประทานยาลดความอ้วน  ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกาย  โรคประจำตัวหรือยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ  ซึ่งควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า   หรือประวัติการรับประทานยาลดความอ้วน,  อาหารที่เกิดขึ้นในระหว่างรับประทานยา  เป็นต้น  มีข้อห้ามใช้ยาลดน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ 

 

ยาลดน้ำหนัก  ที่ใช้อยู่ทั่วไปแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ๆคือ

  1. ยาทำให้ไม่อยากอาหาร 

ยาในกลุ่มนี้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะมีผลทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร  รับประทานอาหารได้น้อยลงอิ่มเร็วขึ้น  ดังนั้นเมื่อร่างกายได้รับอาหารน้อยลง  และหากพลังงานที่ได้รับจากอาหารนี้น้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายต้อง  ร่างกายจะต้องหันมาใช้ไขมันสะสมเป็นพลังงานแทน  ก็เป็นผลทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส  บริเวณที่เป็นศูนย์ควบคุมการกินอาหารและบางชนิดยังออกฤทธิ์เพิ่มกูลโคสในกล้ามเนื้อ  ผลนี้จะเปรียบเสมือนได้ใช้พลังงานมากขึ้น  และยาบางชนิดยังออกฤทธิ์สลายไขมันและกรดไขมันอีกด้วย

  1. ยาขับน้ำหรือยาขับปัสสาวะ

 ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย  ทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมากขึ้น  จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว  นิยมใช้ในพวกนักมวยที่ต้องการลดน้ำหนักให้เท่าพิกัดในระยะเวลาสั้น  โดยมากแพทย์มักใช้ยานี้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง  ภาวะบวมน้ำ  เป็นต้น  ยาเหล่านี้หากใช้ในระยะยาว  อาจทำให้เกิดอาหารอ่อนเพลีย  ไม่มีเรี่ยวแรง  กระหายน้ำ  คอแห้ง  ปากแห้ง  เนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียเกลือแร่และน้ำออกไปทางปัสสาวะ 

  1. ยาฮอร์โมน

 โดยมากมักจะเป็น  “ธัยรอยด์ฮอร์โมน”  ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น  เมื่อพลังงานสะสมถูกใช้ไปมากขึ้นจึงทำให้น้ำหนักลดลงได้  แต่หากใช้ยาปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการใจสั่น  เหงื่อไหล  หรือมีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษได้

  1. ยาระบายหรือยาถ่าย

ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด  บางชนิดออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ให้บีบตัว  บางชนิดก็ทำให้อุจจาระอ่อนตัวหรือเพิ่มปริมาณอุจจาระ  ทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น  ยาในกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นน้ำและเป็นเม็ด  หลังจากรับประทานแล้วจะรู้สึกอยากถ่ายและอุจจาระค่อนข้างเหลว  เหมาะสำหรับคนที่ท้องผูก  ถ่ายยาก

  1. ยาลดกรด

ยาลดกรดทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง  จึงทำให้ไม่รู้สึกหิว  แต่เป็นเพียงชั่วขณะนั้น  ยาลดกรดจะมีสารประกอบที่เป็นอะลูมินัม (aluminum)  ซึ่งแพทย์มักจะใช้ยานี้เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบและบรรเทาอาการปวดท้อง  ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานยานานๆเช่น  ท้องผูก  หรือขาดสารอาหารบางอย่างเนื่องจากยาลดกรดไปรบกวนการดูดซึมของสารอาหาร  โดยเฉพาะ  fluoride  และ  phosphate  เป็นต้น

2.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในการลดน้ำหนัก

  • สมุนไพรที่ผลิตจากพืช

มักจะอยู่ในรูปของอาหารสำเร็จรูป  ซึ่งปรุงแต่งให้มีพลังงานต่ำ  ส่วนประกอบทั่วๆไปคือ  เส้นใยอาหาร  สารอาหารอื่นๆ  คือ  คาร์โบไฮเดรต  โปรตีน  น้ำมัน  รวมทั้งเกลือแร่วิตะมินต่างๆ  เพื่อนำไปรับประทานแทนอาหารปกติ  เพื่อลดปริมาณพลังที่ได้จากอาหารให้น้อยลง  เนื่องจากเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วเส้นใยอาหารจะพองตัว  ทำให้เพิ่มปริมาตรของอาหารในกระเพาะ  จึงทำให้รู้สึกไม่หิว  และหากรับประทานก่อนมื้ออาหารประมาณ  ½-1  ชั่วโมง  ก็จะทำให้รับประทานอาหารอื่นได้น้อยลงและอิ่มเร็วขึ้น

  • สารสกัดจากส้มแขก

 ปัจจุบันได้มีการสกัดสารชนิดหนึ่งจากผลส้มแขกหรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Garcinia  Cambogia  ซึ่งเชื่อว่ามีผลในการลดไขมันได้  ปัจจุบันจึงเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนัก  สารสกัดที่สำคัญที่ว่าก็คือ  ไฮดรอกซีซิตริกแอซิด (Hydroxycitric  Acid) หรือเรียกย่อๆว่า  HCA  ซึ่ง  อย.รับรองความปลอดภัยแล้วในลักษณะขอบ  “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” แต่ไม่ได้รับรองสรรพคุณในแง่ลดความอ้วน

  • ไคโตซาน(Chitosan)  ปัจจุบันมีการค้นพบเส้นใยอาหารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไคโตซาน(Chitosan)  ที่ได้จากส่วนนอกหรือเปลือกของสัตว์  เช่น  เปลือกกุ้งหรือปู  ซึ่งเมื่อนำมาย่อยสลายแล้วจะได้ไคโตซาน  ซึ่งมีคุณสมบัติในการจับไขมันได้ดี  ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาอนุพันธ์ของไคโตซานเพื่อให้สามารถจับกับไขมันได้ดีในทางเดินอาหารของมนุษย์  ซึ่งมีชื่อเรียกว่า  “แอบซอร์บิทอล”  หรือ L112  ไบโอโพลิเมอร์(Enhanced  Chitosan  Derivative)  แอบซอร์บิทอลจะมีลักษณะเป็นเส้นใยเล็กๆที่มีพื้นที่ผิวสูง  สามารถจับกับไขมันในทางเดินอาหารและรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนและสามารถถูกขับถ่ายออกมาพร้อมอุจจาระ  ปัจจุบันจึงมีการใช้แอบซอร์บิทอลในการควบคุมน้ำหนักและลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์  และโคเลสเตอเรลในเลือด  การใช้แอบซอร์บิทอลนั้นควรระมัดระวังการขาดวิตามินบางชนิดได้  โดยเฉพาะวิตามินที่ละลายในไขมัน  เช่น  เอ  ดี  อีและเค

 

3.การฝังเข็ม

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ภาวะน้ำหนักเกิน หรือความอ้วน เกิดมาจากปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอก

  • ปัจจัยภายใน

เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบการเผาผลาญพลังงานภายในร่างกาย ซึ่งขึ้นอยู่กับ การทำงานของกระเพาะอาหาร ระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงส่วนของม้ามอ่อนแอ ระบบขับถ่ายของเสียบกพร่อง ทำให้มีเสมหะสะสม ไขมันสะสม คนที่อ้วนด้วยสาเหตุนี้ อาจจะไม่ได้รับประทานอาหารมากนัก แต่พลังเผาผลาญน้อยลง การฝังเข็มจึงมุ่งไปเพิ่มพลังกระเพาะอาหาร และช่วยให้ม้ามทำงานได้ดีขึ้น สาเหตุที่ทำให้ระบบการย่อยบกพร่อง อาจจะเนื่องจากการรับประทานอาหารคราวละมากๆ บ่อยๆ ไม่เป็นเวลา , การดื่มน้ำเย็น น้ำแข็ง ในช่วงที่อิ่มข้าวแล้ว ซึ่งความเย็นจะทำให้ระบบการย่อยช้าลง เกิด “ภาวะหยางพร่อง” ของกระเพาะอาหาร ประสิทธิภาพลดลง อาหารค้างในลำไส้นานกว่าปกติ เกิดเสมหะและลม รบกวนระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย

  • ปัจจัยภายนอก

ได้แก่   การรับประทานอาหารปริมาณมาก เกินความต้องการของร่างกาย ร่วมกับขาดการออกกำลังกาย เกิดพลังงานสะสมมาก เป็นเหตุให้ไขมันมากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น

 

วิธีการฝังเข็ม

หลังจากที่ “เปี้ยนเจิ้ง” หรือ วิเคราะห์หาสาเหตุแล้ว แพทย์ก็จะเลือดจุดฝังเข็ม ตามเส้นลมปราณโดยเฉพาะ เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร และม้าม ซึ่งจะใช้เข็มขนาดความยาว 1.5 ชุ่น ฝังไปตามบริเวณหน้าท้อง  รอบสะดือ ร่วมกับการกระตุ้นปลายเข็มด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า และอาจจะปรับการไหลเวียนของเลือดบริเวณหน้าท้อง โดยการครอบแก้ว รอบๆสะดือ