
ฝ้า (MELASMA)
พูดถึงฝ้าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ฝ้าเกิดจาดความผิดปกติของการสร้างผิวของผิวหนังในบางแห่งและเป็นเฉพาะบางคนเท่านั้น แต่โดยมากแล้วฝ้ามักจะเกิดในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวคล้ำหรือผิวดำ ฝ้าเกิดได้หลายๆที่บนใบหน้าเนื่องจากผิวหนังที่หน้ามีเซลล์สร้างสีผิวมากกว่าบริเวณอื่นๆ และโดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้มและสันจมูกจะเป็นบริเวณที่มีฝ้าเกิดขึ้นได้บ่อยเนื่องจากเป็นบริเวณที่ถูกแดดที่สุด ฝ้าพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีปัจจัยหลายๆอย่างที่ทำให้เป็นฝ้าง่ายขึ้นและทำให้คนที่เป็นฝ้าเป็นมากขึ้นด้วย
ทำไมสีผิวของคนเราแตกต่างกัน
ผิวหนังจะมีสารสำคัญที่ทำให้เกิดสีผิว คือ เม็ดสีเมลานิน (melanin) ซึ่งเม็ดสีนี้เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันผิวหนังจากการทำลายของแสงแดดไม่ให้ผิวเกิดการแดงหรือไหม้เกรียมจากการถูกแดดเผา (sunburn) เพราะเม็ดสีของเมลานินจะช่วยดูดซับแสงในช่วงแสงที่มองเห็น (Visible light : 400-700 nm) และแสงอุลตร้าไวโอเลต เอ และบี ไว้ได้ (Ultraviolet A:320-400 nm, Ultraviolet B: 290-320 nm)
สีผิวหนังของคนเราเป็นผลรวมของสี3 สีคือ
- สีน้ำตาล จาก melanin
- สีแดง จาก deoxygenated hemoglobin
- สีเหลือง จาก carotene

สีผิวที่ผิวหนังเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
สีผิวหนังเกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ซึ้งอยู่ในชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า (basal cell layer) สร้างเม็ดสีที่เรียกว่าเมลานิน (melanin) เมื่อสร้างแล้วเม็ดสีจะถูกส่งให้เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าที่เรียกว่า keratinocyte ที่อยู่ส่วนบนสุดของผิวหนังต่อไป
ขบวนการสร้างสีผิวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดา และเกิดต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ในขบวนการสร้างเม็ดสีจะต้องอาศัยเอ็นไซม์ที่สำคัญตัวหนึ่งคือ เอ็นไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดสี เอ็นไซม์นี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีต่าง ๆ ที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน เพื่อที่จะเปลี่ยน tyrosine ซึ่งจะเป็นกรดอะมิโนในผิวหนัง ให้กลายเป็นเป็นเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน เมื่อเปลี่ยนเทียบส่วนต่างๆของร่างกายจะพบว่าจำนวนเซลล์สร้างเม็ดสีจะแตกต่างกันคือ ที่ใบหน้าจะเป็นบริเวณที่มีเซลล์สร้างเม็ดสีหนาแน่นที่สุดส่วนที่ลำตัวและแขนจะมีเซลล์สร้างเม็ดสีน้อยลงตามลำดับ ในคนผิวดำหรือคนผิวขาวจะมีจำนวนเซลล์สร้างเม็ดสีไม่แตกต่างกัน แต่การทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีในคนผิดำจะมากกว่า ขนาดของเซลล์จะโตกว่าและสัดส่วนของเม็ดสีภายในเซลล์จะมากกว่าคนผิวขาว
กระบวนการสร้างเม็ดสีจะมีขั้นตอนต่างๆมากมายจึงเกิดเม็ดสีขึ้นดังนั้นหากมีความผิดปกติของขั้นตอนหนึ่งก็จะทำให้เกิดความผิดปกติของสีผิวด้วย เช่น ถ้ามีปัจจัยใดก็ตามที่กระตุ้นการทำงานเอ็นไซม์ไทโรซเนสมากขึ้น ก็ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผิวเข้มข้น แต่หากถูกกระตุ้นมากขึ้นจนเสียสมดุลย์ของการสร้างเมลานินก็จะทำให้เกิดมีการผลิตเมลานินมากขึ้นเกิดไปจนเกิดเป็นฝ้า กระ หรือจุดด่างดำที่ผิวหนังขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน หากเซลล์สร้างเม็ดสีไม่สามารถสร้างเอ็นไซม์ไทโรซิเนสก็จะทำให้เกิดความผิดปกติของสีผิวปกติของสีผิวแบบ “Hypopigmentation” เช่นโรคด่างขาว เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดฝ้า
- แสงแดด
เชื่อว่าแดดเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการเกิดฝ้า เมื่อผิวหนังถูกแสงแดดรังสีอุลตร้าไวโอเลตจะกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนสมากขึ้น ทำให้มีการสร้างเม็ดสีมากผิดปกติจนเกิดฝ้า กระ หรือรอยด่างดำมากขึ้นได้
- ฮอร์โมน
ฮอร์โมนบางอย่างทำให้เกิดฝ้าหรือทำให้ที่เป็นอยู่เข้มมากขึ้น โดยมากมักพบในคนตั้งครรภ์ หรือคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดและอาจพบในคนที่เป็นธัยรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidsm) ผิวหนังทั่วร่างกายจะมีสีคล้ำมากขึ้น
- ยารับประทาน
มียาหลายชนิดที่รับประทานแล้วทำให้เกิดฝ้าได้ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น
- เครื่องสำอาง
บางคนเกิดการแพ้ส่วนผสมต่างๆ ในเครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม , สี , สารกันเสีย ทำให้เกิดเป็นรอยด่างดำแบบฝ้าได้
- การขาดอาหาร
การขาดสารอาหารบางอย่างทำให้มีสีผิวคล้ำขึ้นได้ เช่น กรด Folic , วิตะมินแอ , วิตะมินซี หรือ วิตะมินบี 12 เป็น
- พันธุกรรม
คนในครอบครัวเดียวกันมีโอกาสเกิดฝ้าได้ถึง 30- 50 % และพบว่าฝ้ามักเกิดในคนเอเชีย ซึ่งอาจเกิดจากอิทธิพลของพันธุกรรมหรืออาจเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม และแสงแดด ก็เป็นได้
ชนิดของฝ้า
- ฝ้าที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้าหรือชนิดตื้น (Epidermal type)
- ฝ้าที่อยู่ในชั้นหนังแท้หรือชนิดลึก(Dermal type)
- ฝ้าแบบผสม (Compound type)
การแยกชนิดของฝ้าทำได้โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Wood’s lamp ส่องไปที่ใบหน้า หากฝ้าชัดขึ้นแสดงว่าเป็นฝ้าชนิดแรกคือชนิดตื้น แต่ถ้าเป็นชนิดลึกจะไม่พบการเปลี่ยนแปลง บางคนอาจเป็นฝ้าทั้ง 2 ชนิด คนที่มีฝ้าชนิดตื้นจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าคนที่มีฝ้าอยู่ในชั้นหนังแท้ จึงมีโอกาสหายได้เร็วกว่าคนที่มีฝ้าชนิดลึก
วิธีการรักษาฝ้า
1.ยารักษาฝ้า
ยารักษาฝ้ามีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ในการรักษาฝ้าแตกต่างกัน ในการรักษาฝ้าแพทย์อาจจะใช้ยาร่วมกันหลายๆอย่าง เพื่อให้ฝ้าหายเร็วขึ้นยาบางอย่างหากใช้ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอาจเกิดผลข้างเคียงอื่นๆตามมาได้ เช่น หน้าลอก , หน้าแดง , ผิวหน้าบางลง หรือหน้าดำคล้ำมากกว่าเดิม ยาหลายๆตัวที่มีในท้องตลาดและไม่ควรนำมาใช้ในการรักษาฝ้า เช่น
ครีมไข่มุก
ในสมัยก่อนคุณอาจจะเคยได้ยินครีมที่มีชื่อว่า “ครีมไข่มุก” ซึ่งเป็นครีมที่ใช้ทาฝ้าในสมัยก่อน ทำให้ฝ้าจางลงหน้าขาวขึ้น ซึ้งสาระสำคัญในครีมนี้ก็คือ สารปรอท (Ammoniated mercury) มีลักษณะเป็นผงสีขาวไม่ละลายน้ำ ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ สารนี้ทำให้ฝ้าจางลงได้เนื่องจากมีสารปรอทซึ่งไปรบกวนการทำงานของเอ็นไซม์ที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีและยังสามารถทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีอย่างถาวรได้ หากใช้ครีมนี้เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดด่างขาวบริเวณที่ทาได้ นอกจากนี้อาจจะทำให้ฝ้าที่เป็นอยู่ดำคล้ำมากกว่าเดิม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสารปรอทมีการสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นรอยดำขึ้น และที่อันตรายมากกว่านั้นก็คือถ้าสารปรอทถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงจะทำให้เกิดพิษต่อไตได้ ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายห้ามใช้สารปรอทผสมในครีมทาฝ้าแล้ว
ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
ในการรักษาฝ้าจะมีความเข้มข้นตั้งแต่ 2-5 % ออกฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสีโดยลดการสร้างเม็ดสี ยานี้มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้าได้ดี แต่หากใช้ยานี้ในความเข้มข้นสูงๆ ทำให้มีอาการแดงได้ และอาจจะมีการทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีทำให้เกิดด่างขาวได้ การใช้ยานี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้มาก หากใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นแล้วฝ้าจางลงและต้องการจะหยุดยา ก่อนจะเลิกใช้ต้องมีการปรับยาให้เหมาะสมเสียก่อนจึงจะเลิกใช้ยาได้ เพราะถ้าหยุดใช้ทันทีอาจทำให้หน้าคล้ำขึ้นได้
กรดวิตะมินเอ (Retinoic acid)
กรดวิตะมินเอหรือ tretinoin ออกฤทธิ์ โดยเร่งให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนที่มีเมลานินหลุดลอกออก โดยใช้ความเข้มข้นตั้งแต่ 0.01-0.05 % มักใช้ร่วมกับยาอื่นๆเพราะหากทายาชนิดนี้เพียงอย่างเดียวจะให้ผลช้า ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการระคายเคืองหรือทำให้หน้าแดงได้
ยาสเตียรอยด์ (Steroid)
ครีมทาฝ้าบางชนิดจะมีสารพวกสเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน จึงทำให้บริเวณที่ทายานี้ขาวขึ้นได้ ยาประเภทนี้มีความแรงหลายระดับและความเข้มข้นต่างๆกัน การทายานี้นานๆหรือทายาประเภทนี้ที่มีฤทธิ์แรง จะทำให้เกิดผลข้างเคียงมากเช่น เกิดสิว , ผิวหน้าบาง , บริเวณที่ทาอาจมีขนยาวกว่าปกติ หรือมีเส้นเลือดฝอยขยายบริเวณที่ทายาได้
ยาอื่นๆ (Miscelleneous)
- AHA เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนที่ตายแล้วหลุดออกจึงทำให้ฝ้าจางเร็วขึ้น มักใช้ร่วมกับยาฝ้าชนิดอื่นๆเพราะช่วยให้ฝ้าชนิดอื่นๆออกฤทธิ์หรือซึมเข้าผิวหนังได้ดีขึ้น
- Kojic acid ใช้เป็นยารักษาฝ้า มีทั้งที่เป็นครีมและชนิดที่เป็นสารละลายใส ความเข้มข้นประมาณ 1-2 % ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนส ทำให้การสร้างเม็ดสีเมลานินลดลง
- Arbutin cream ความเข้มข้น 3-7 % ได้มีการนำเอาสารชนิดนี้ผสมเครื่องสำอางเพื่อทำให้ผิวขาวขึ้น ออกฤทธิ์ ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนส ทำให้การสร้างเม็ดสีเมลานินลดลง
- Licorice cream ความเข้มข้น 0.1 % สารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ glabridin ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซเนสและเอ็นไซม์อื่น (Dopachrome tautomerase) ทำให้สร้างเม็ดสีเมลานินลดลง
Vitamin C derivatives คือสารที่มีชื่อว่า ascorbyl magnesium phosphate หรือที่เรียกย่อๆว่า VC-PMG ความเข้มข้น 3 % มีทั้งที่เป็นครีม โลชั่นและสารละลายใส ได้มีการนำเอาสารชนิดนี้ผสมในเครื่องสำอางเพื่อทำให้ผิวขาวขึ้น

2.การฝังเข็มรักษาฝ้า
การฝังเข็มรักษาฝ้า บริเวณผิวหน้า ซึ่งเป็นเข็มชนิดพิเศษ และมีขนาดเล็กกว่าเข็มที่ฝังบริเวณอื่นๆ โดยทั่วไปแพทย์จะฝังเข็มล้อมบริเวณที่เป็นฝ้า เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซม และเพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลืองที่บริเวณนั้น เป็นวิธีการรักษาโดยกลไกธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งคล้ายกับการเกิดรอยดำทั่วไป ร่างก่ยก็มีกลไกในการรักษาตัวเอง ทำให้รอยเหล่านั้นจางหายได้เอง การรักษาโดยการฝังเข็มก็เช่นกัน เพียงแต่เข็มไปช่วยกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาซ่อมแซมตนเอง นอกเหนือจากการฝังเข็มที่บริเวณใบหน้าที่เป็นฝ้า ในบางราย อาจจะต้องฝังเข็มบริเวณอื่นด้วย เพื่อปรับสมดุลบความผิดปกติของระบบอื่นๆเช่น ระบบเลือดลม และฮอร์โมน จึงทำให้ฝ้าจางหายไปได้ โดยมากแล้วจะฝังเข็มสัปดาห์ละ1-2ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ10ครั้ง หรือ 1 คอร์ส
